แกะรอยขุมทรัพย์มือถือจีน หลังตลาดเริ่มตอบรับดีเกินคาด แม้แต่ผู้ผลิตดีวีดียังโดดเข้ามาทำตลาด ชูจุดขายเน้นฟังก์ชั่นการใช้ 2 ซิม ดูทีวีได้ ราคาแค่2-3พันบาท
หลายปีก่อน โทรศัพท์มือถือ "เฮาส์แบรนด์" รวมแบรนด์เล็กแบรนด์น้อย ซึ่งเกือบทั้งหมดมาจากแหล่งเดียวกัน คือประเทศจีน เคยเข้ามาทำตลาดในเมืองไทยแล้ว แม้จะทำยอดขายได้ดีพอควรจนยักษ์ใหญ่อย่าง "โนเกีย" ต้องหันมามอง แต่ที่สุดก็ต้องล่าถอยออกจากตลาดไปเกือบหมดในท้ายที่สุด เพราะแพ้ภัยตนเองจากปัญหาคุณภาพของสินค้า และบริการหลังการขาย ประกอบการผู้บริโภคก็ยังไม่เปิดใจรับสินค้าแบรนด์โนเนมเท่าใดนัก ยิ่งอยู่ในกลุ่มของสินค้าเทคโนโลยีด้วยแล้ว สถานการณ์ในปัจจุบันแตกต่างไปจากอดีตอย่างสิ้นเชิง ปัจจุบัน "เฮาส์แบรนด์" และมือถือจีนโนเนมทั้งหลายต่างได้รับการตอบรับที่ดีจากตลาดเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และเห็นชัดเจนมากขึ้นเรื่อยๆ ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา มีมือถือแบรนด์เล็กทยอยแจ้งเกิดมากขึ้นเรื่อยๆ อาทิ จีเน็ตและเวลคอม เป็นต้น ไม่นับ "ไอ-โมบาย และโฟนวัน" ซึ่งผู้บริโภคคุ้นเคยกันดีอยู่แล้ว เพราะมีบริษัทใหญ่หนุนหลัง "ไอ-โมบาย" มือถือแบรนด์ไทยของกลุ่มสามารถยืนยึดหัวหาดในฐานะผู้นำตลาดในกลุ่มเครื่องเฮาส์แบรนด์ ข้อมูลจาก บมจ.สามารถไอโมบาย ระบุว่า จากผลการสำรวจการรับรู้แบรนด์ของกลุ่มผู้บริโภค (brand awareness) ในปัจจุบัน แบรนด์ "ไอ-โมบาย" เป็นที่จดจำในกลุ่มผู้บริโภคคนไทย ในระดับประมาณ ร้อยละ 96 ซึ่งอยู่ในระดับใกล้เคียงกับโทรศัพท์มือถืออินเตอร์แบรนด์ต่างๆ ที่มีการสร้างแบรนด์ และเป็นที่รู้จักมาก่อนในระดับนานาชาติ ในแง่ยอดขายก็เติบโตขึ้นอย่างน่าสนใจ โดยในปี 2547 ซึ่งเป็นปีแรกที่ไอ-โมบายเข้าสู่ตลาด ทำยอดขายได้ประมาณ 3 แสนเครื่อง (มาร์เก็ตแชร์ 7% เทียบกับตลาดรวม) ปีถัดมา มียอดขายประมาณ 9 แสนเครื่อง มาร์เก็ตแชร์ขยับขึ้นเป็น 18% ปี 2549 เพิ่มเป็น 23% และเป็น 30% ในปี 2550 ที่ผ่านมา ด้วยยอดขายประมาณ 3.2 ล้านเครื่อง !!! ในปี 2551 ณ ไตรมาส 1 ที่ผ่านมา "ไอ-โมบาย" เปิดเผยว่า ยังรักษาระดับส่วนแบ่งตลาดที่ 30% ของตลาดรวมเอาไว้ได้ แม้ตัวเลขจะแตกต่างไปจากข้อมูลจากการสำรวจของ "GFK" บริษัทวิจัยตลาดไปบ้าง แต่ "ไอ-โมบาย" ก็ยังติดอยู่ในกลุ่มที่น่าจับตามองอย่างยิ่ง ไม่ใช่แต่ "ไอ-โมบาย, โฟนวัน, จีเน็ต หรือเวลคอม" ปัจจุบันมือถือแบรนด์เล็กยกทัพเข้าสู่ตลาดกันพรึบพรับนัยว่าเป็นเกือบ 200 แบรนด์ ว่ากันว่า ถ้าไปเดินตามดูตามตู้ขายมือถือ ทั้งตู้เล็กตู้น้อยในโซนขายอุปกรณ์สื่อสารตามห้างสรรพสินค้า หรือแม้แต่ในเชนสโตร์บางแห่ง เทียบกันแล้วสัดส่วนของเครื่องแบรนด์โนเนมเยอะกว่าแบรนด์เนมด้วยซ้ำไป นอกจากปรากฏการณ์มือถือจีนที่ทะลักเข้ามาในตลาดเมืองไทยแล้ว ยังพบว่าการทำตลาดของแบรนด์เล็กๆ มีพัฒนาการมากขึ้น ไม่ใช่แค่เครื่องหิ้วจากจีนเข้ามาขายเป็นลอตๆ เท่านั้น หลายๆ แบรนด์มีเว็บไซต์เป็นหน้าร้านโชว์สินค้า พร้อมชูเรื่องศูนย์บริการ และคอลล์เซ็นเตอร์ เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ
และในงาน Thailand Mobile Expo 2008 ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ 2-5 ตุลาคม ศกนี้ พบว่านอกจากมือถือแบรนด์ดังทั้งหลายแล้ว ที่สำคัญคือมีมือถือแบรนด์ใหม่ๆ เข้ามาจับจองพื้นที่เปิดขายในงานกันมากหน้าหลายตากินพื้นที่ไปเกือบครึ่งของงาน อาทิ แบรนด์ MISO, MXNEC, iLINK, SKG, Xphone, Plantronics, NOVO และ AJ ที่เดิมเป็นผู้ผลิตเครื่องเล่นดีวีดี ก็โดดเข้ามาทำตลาดมือถือเช่น จุดขายของแต่ละแบรนด์ก็ไม่แตกต่างคือเน้นฟังก์ชันการใช้ 2 ซิม ดูทีวีได้ ราคาเริ่มต้น 2,000-3,000 บาท ส่วนหนึ่งก็เป็นผู้ค้ามือถือรายใหญ่ในมาบุญครองที่ขยับขยายนำมือถือจีนมาสร้างแบรนด์ของตัวเอง ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ร้านค้าตัวแทนจำหน่ายอ้าแขนรับเฮาส์แบรนด์ทั้งหลายเหล่านี้ เกิดจากโอกาสการทำ "กำไร" ต่อเครื่องที่เป็นกอบเป็นกำมากกว่า "แบรนด์ดัง" เป็นอันมาก ในมุมของผู้บริโภค นอกจาก "ราคาถูกกว่า" จะเป็นจุดขายที่โดดเด่นของเครื่องเฮาส์แบรนด์แล้ว ในแง่ของการใช้งานก็มีฟังก์ชันที่โดดเด่นโดนใจด้วย ไม่ว่าจะเป็นมือถือดูทีวีได้ หรือใช้ 2 ซิมได้ในเครื่องเดียว ต่างเป็นฟังก์ชันที่แบรนด์ยักษ์ใหญ่ทั้งหลายมองข้าม หรือถ้ามีก็ราคาแพงกว่ามาก ดังนั้นสินค้ากลุ่มนี้จึงสามารถเข้ามาตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าระดับโลว์เอนด์ (ที่เป็นฐานตลาดใหญ่)ได้เป็นอย่างดี "เทคโนโลยีจีเอสเอ็มเริ่มสเตเบิลมากแล้ว ทำให้มือถือที่ผลิตออกมาจากโรงงานในจีนมีปัญหาเรื่องคุณภาพน้อยลงจากเดิมมากทำให้มือถือจากจีนเริ่มเป็นที่ยอมรับจากผู้ค้ามากขึ้น กล้านำเข้ามาขาย กล้าสั่งผลิต ประกอบกับผู้บริโภคเองก็เปิดรับสินค้าโนเนมมากขึ้นทำให้เฮาส์แบรนด์แจ้งเกิดได้ในที่สุด คาดว่าในสิ้นปีนี้ยอดขายของเฮาส์แบรนด์ทุกเจ้ารวมกันน่าจะมีมาร์เก็ตแชร์เกิน 25% "ผู้สันทัดกรณีในวงการมือถือกล่าว และว่า ไม่ใช่แต่เครื่อง 2 ซิม หรือมือถือดูทีวีได้เท่านั้น เครื่อง "3 จี" ที่ผลิตจากจีนก็สิทธิ์มาแรงได้เช่นกัน |
ความคิดเห็น